สิ่งควรรู้ก่อนเลือกซื้ออุปกรณ์ RFID
การซื้ออุปกรณ์ RFID เพื่อนำมาใช้งานนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยสำหรับมือใหม่ หรือแม้แต่บุคคนที่มีความรู้เรื่อง RFID อยู่แล้ว ดังนั้นก่อนที่จะเลือกซื้ออุปกรณ์ RFID คุณควรต้องมีการกำหนดขอบเขตของงานทั้งหมดให้แน่ชัดเสียก่อน การที่เราสรุปเป้าหมายของงานและความต้องการในการนำอุปกรณ์ RFID ไปใช้งานนั้นจะช่วยให้คุณเลือกซื้ออุปกรณ์ RFID ที่เหมาะสมกับงานของคุณได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น และยังสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ รวมถึงช่วยป้องกันการเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นของคุณอีกด้วย มาดูกันค่ะว่าการเลือกอุปกรณ์ RFID เบื้องต้นนั้นต้องดูเรื่องอะไรกันบ้าง
RFID Tag คือ ป้ายที่ไว้สำหรับติดบนตัวสินค้า ซึ่ง RFID Tag นั้นมีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไปและก็มีหลากหลายประเภท ถ้าคุณจะเลือกซื้อ RFID tag เพื่อนำไปใช้งาน เราขอแนะนำเบื้องต้นดังนี้
- พื้นผิววัสดุที่ต้องการติด RFID tag เช่น กระดาษ เราสามารถใช้ RFID Tag ประเภท label tag ได้ แต่ถ้าวัสดุเป็น เหล็ก เราไม่สามารถใช้ label tag ได้ ต้องใช้ metal tag เท่านั้น เพราะ metal tag เป็น RFID Tag ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อติดกับวัสดุที่เป็นโลหะได้โดยไม่ถูกรบกวนสัญญาณนั่นเอง
- ต้องการติด RFID Tag ด้วยวิธีใด เช่น ติดกาว, ไขน็อต หรือเย็บติด ถ้าคุณต้องการ RFID tag ที่จะนำไปติดกับเสื้อผ้าในธุรกิจซักรีด เราขอแนะว่าก็ต้องใช้ laundry Tag ค่ะ เพราะเป็น RFID tag ประเภทเย็บติดกับผ้าและทนต่อการซักล้างค่ะ
- สภาพแวดล้อมพื้นที่หน้างานโดยรอบที่ RFID Tag ต้องไปอยู่นั้นเป็นอย่างไร เช่น พื้นที่หน้างานหรือห้องที่มีอุณหภูมิสูง คุณควรต้องเลือกใช้ High Temperature Tag เท่านั้น เพราะเป็น RFID tag ที่สามารถทนความร้อนได้เกิน 100 องศาขึ้นไป
- ระยะการอ่านที่หวังผล ถ้าคุณต้องการระยะการอ่านที่ไม่ไกลมาก RFID Tag ที่มีขนาดเล็กก็สามารถใช้งานได้ (แต่ขึ้นอยู่กับ RFID Reader และสภาวะแวดล้อมด้วยค่ะ)
- การเก็บข้อมูล (Memory chip) RFID tag ที่คุณนำไปใช้งานนั้นถ้าจำเป็นต้องมีการ write tag (เขียนข้อมูลลง RFID Tag) คุณก็ต้องเลือก RFID Tag ที่สามารถ read / write ค่ะ เพราะถ้าคุณเลือก RFID tag ประเภท read only (อ่านอย่างเดียว) คุณจะไม่สามารถเขียนข้อมูลลง RFID Tag ได้นั่นเอง
RFID Antenna หรือเสาอากาศสำหรับนำไปใช้งานคู่กับเครื่องอ่าน Fixed reader เพื่อใช้ในการรับ-ส่งสัญญาณจากเครื่องอ่านไปยัง RFID tag
- ระยะการอ่านที่ต้องการอยู่ที่เท่าไร ถ้าคุณต้องการระยะการอ่านที่ไกลเพราะพื้นที่หน้างานติดตั้ง Antenna นั้น มีพื้นที่กว้าง เช่น ตรงประตูทางเข้าคลังสำหรับรถบรรทุก เราควรเลือกใช้ Antenna ที่มีขนาดใหญ่ค่ะ เพื่อจะได้ส่งสัญญาณถึง RFID tag
- สภาพแวดล้อมพื้นที่หน้างานโดยรอบที่ต้องติดตั้ง Antenna เช่น ติดตั้งภายในอาคารหรือนอกอาคาร ต้องโดนน้ำหรือไม่ ต้องโดนฝุ่นหรือไม่ ซึ่งเราควรเลือก Antenna ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่ติดตั้ง ตัวอย่าง Antenna ประเภท IP 54 เป็นประเภทที่กันฝุ่นและน้ำได้ดีเพราะฉะนั้นถ้าคุณจำเป็นต้องติดตั้ง Antenna ภายนอกอาคารที่ต้องโดนละอองฝุ่นหรือน้ำฝนอยู่บ้าง สามารถใช้ Antenna ประเภท IP 54 ได้
- ขนาดพื้นที่ที่ต้องการติดตั้ง ถ้าคุณจำเป็นต้องเอา Antenna ไปติดตั้งในพื้นที่แคบหรือใต้เคาน์เตอร์โต๊ะคิดเงิน เราขอแนะนำว่าคุณควรเลือก Antenna ที่มีความบาง (ขนาดไม่หนามาก) เพื่อจะได้ติดตั้งได้ง่ายขึ้นค่ะ
RFID Reader คือเครื่องอ่านสำหรับอ่าน RFID Tag ซึ่งเครื่องอ่านก็จะมีอยู่ 2 ประเภท คือแบบมีเสาอากาศ (Desktop reader, Integrated reader, handheld) และแบบไม่มีเสาอากาศ (Fixed reader)
- ระยะการอ่านที่ต้องการอยู่ที่เท่าไร คลื่นความถี่ของ RFID นั้นมีอยู่ 3 คลื่น คือ LF (125 Khz.), HF (13.56 Mhz.) และ UHF (920-925 Mhz) ซึ่งถ้าคุณต้องระยะการอ่านที่ไกลก็ควรเลือกใช้ RFID Reader คลื่นความถี่ UHF ค่ะ
- สภาพแวดล้อมพื้นที่หน้างานโดยรอบที่ต้องติดตั้ง ภายในอาคารหรือนอกอาคาร ต้องโดนน้ำโดนฝุ่นหรือไม่ เราควรเลือก RFID Reader ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่ติดตั้ง ถ้าคุณจำเป็นต้องติดตั้ง RFID Reader ภายนอกอาคารที่ต้องโดนฝุ่นละอองหรือน้ำฝนอยู่บ้าง สามารถใช้ RFID Reader ประเภท IP 54 ค่ะ
- ต้องการวางเครื่องอ่านไว้ที่ใด ติดตั้งอยู่กับที่ หรือแบบพกพาไปในส่วนต่างๆ ได้ สำหรับงานบางประเภทที่จำเป็นต้องใช้เครื่องอ่านแบบพกพาไปอ่าน RFID tag ตามที่ต่างๆ เช่น การเดินไปเช็คจำนวนสินค้าภายในห้องเก็บสินค้าตามชั้นต่างๆ ภายในอาคาร คุณสามารถเลือก RFID reader ประเภท Handheld ได้ เพราะเป็นเครื่องอ่าน RFID tag แบบพกพา
จากบทความ "สิ่งควรรู้ก่อนเลือกซื้ออุปกรณ์ RFID" ทางเราหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนที่กำลังจะตัดสินใจซื้ออุปกรณ์ RFID เพื่อเข้ามาช่วยในงานของคุณ ซึ่งทางเรายินดีให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอุปกรณ์ RFID โดยเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ทางด้าน RFID โดยตรง โทร.02-136-9171-4